หน้าแรก / R-SCI 101 • พฤษภาคม 27, 2023
เครื่องหมาย และการขอมาตรฐานสินค้าการเกษตร
การขอรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในการระบุว่าสินค้านั้นๆมีคุณภาพหรือไม่แล้ว ยังบ่งบอกถึงสินค้านั้นว่าเหมาะสมกับความต้องการเฉพาะตามข้อกำหนดในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมาตรฐานทางการเกษตร มีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น GAP, GLOBAL G.A.P, ORGANIC EU, GMP, HACCP, BRC, EL, CM
เครื่องหมายสินค้าเกษตร มีอะไรบ้าง
ซึ่งสำหรับเกษตรกรที่ทำธุรกิจเกษตรมาแล้วระยะหนึ่งอาจจะเริ่มมองหาช่องทางการผลิตสินค้าให้ได้ มาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร อาทิ เช่นพื่อส่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ส่งออกไปยังต่างประเทศ เป็นต้น
ดังนั้น เรามาดูว่า เครื่องหมายสินค้าเกษตร มีอะไรบ้าง และแต่ละอย่างมีความหมายและความสำคัญอย่างไร
1.GAP (GOOD AGRICULTURAL PRACTICES)
คือมาตรฐานสำหรับการส่งออกผักผลไม้สดซึ่งจำเป็นจะต้องขอการรับรอง GAP พืชอาหาร ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับสำหรับการส่งออกในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ข้อกำหนดมาตรฐานจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพ ความปลอดภัยสินค้า การสอบกลับ สุขอนามัยในแปลง การจดบันทึกเป็นต้น ซึ่งผู้ต้องการใบรับรอง สามารถติดต่อได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ในแต่ละท้องที่ ค้นหาข้อมูลติดต่อสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ได้ที่เว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร https://www.doa.go.th/th/
2.GLOBAL G.A.P.
มาตรฐานของกลุ่มห้างค้าปลีกที่เป็นสมาชิกของ GLOBAL G.A.P. สามารถดูรายชื่อ ห้างค้าปลีกที่เป็นสมาชิกและที่ปรึกษาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานประจำประเทศไทย ได้ใน www.globalgap.org มาตรฐานนี้ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ เป็นความสมัครใจระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย จะตกลงกัน GLOBAL G.A.P. เป็นมาตรฐานการรับรองแหล่งผลิตพืชอาหาร ที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก มีข้อกำหนด คล้ายกับ GAP ของกรมวิชาการเกษตร เนื่องจาก GAP ของกรมวิชาการเกษตร ได้นำข้อกำหนดใน GLOBAL G.A.P. มาใช้ แต่ GLOBAL G.A.P. จะมีรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติมากกว่า ซึ่งไม่เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ไม่ถนัดการจัดทำระบบเอกสาร มาตรฐานนี้สามารถขอการรับรองได้จากหน่วยงานเอกชน ที่เรียกว่าหน่วยตรวจรับรอง ซึ่งสามารถดูรายชื่อ หน่วยตรวจรับรองที่ได้รับอนุญาตได้ใน เว็บไซต์ GLOBAL G.A.P. เช่นเดียวกัน
3.ORGANIC
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นมาตรฐานรับรองแหล่งผลิตพืชที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี นอกจากไม่ใช้สารเคมีแล้ว เมล็ดพันธุ์ต้องไม่มีการคลุกสารเคมี หรือมาจากกระบวนการปลูกที่ใช้สารเคมี และมีระยะปรับเปลี่ยนจากการปลูกแบบใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้สารเคมีในแปลงปลูกสลายตัวไปในระดับที่ปลอดภัย จึงจะได้รับการรับรอง ซึ่งผู้ปลูกต้องเลือกขอการรับรองตามตลาดที่สนใจ เช่น ตลาดในประเทศสามารถขอมาตรฐาน ORGANIC THAILAND ก็เพียงพอ หากต้องการส่งตลาด EU ต้องขอเป็นรับรองมาตรฐาน ORGANIC EU ซึ่งสามารถขอรับบริการฝึกอบรมและตรวจรับรองได้จากหน่วยงานเอกชน เช่น บริษัท ECOCERT บริษัท BIOAGRICERT ซึ่งหากต้องการส่งสินค้า ORGANIC ไปต่างประเทศ โรงคัดบรรจุต้องขอการตรวจรับรองมาตรฐานด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าในกระบวนการคัดบรรจุจะไม่มีการปะปนกันระหว่างพืชที่ได้รับรองและไม่ได้รับการรับรอง รวมถึงในกระบวนการคัดบรรจุ พืช ORGANIC ต้องไม่สัมผัสสารเคมีที่ไม่อนุญาตให้ใช้
หากผู้ปลูกจะส่งสินค้าไปยังประเทศไหน ควรต้องขอการรับรองมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร ก่อนเป็นพื้นฐาน เนื่องจากทำง่ายและเป็นมาตรฐานบังคับในการส่งออกตามกฎระเบียบของ กรมวิชาการเกษตร ในหลายกลุ่มประเทศ หลังจากนั้นจึงพิจารณาขอการรับรองตามลักษณะการปลูก หรือความต้องการของลูกค้าปลายทางค่ะ