หน้าแรก / R-SCI 101, R-SCI FARMING • มิถุนายน 8, 2023

ขั้นตอนการเตรียม “ดินอินทรีย์” สำหรับปลูกผักออร์แกนิค

ดินอินทรีย์

การปลูกผักออร์แกนิกเป็นเรื่องที่เกษตรกรยุคใหม่ หรือแม้แต่คนทั่วไปที่ใส่ใจสุขภาพ หันมาสนใจกันมากขึ้น สำหรับผู้ที่อยากจะทดลองปลูกผักรับประทานเองในบ้านแบบปลอดสาร ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และไม่ฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์เราสามารถใช้เทคนิคง่ายๆ ในการ เตรียม ดินอินทรีย์ สำหรับปลูกผักออร์แกนิก เพาะเมล็ดป้องกันแมลงกัดกิน รวมถึงหมักปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน สิ่งเหล่านี้หากมีการจัดการที่เหมาะสมแล้วสารเคมีก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

  • ทดสอบการเตรียมดิน
  • วิธีปรับสภาพดินให้สมบูรณ์
  • สูตรปรุงดินให้อุดมด้วยธาตุอาหาร

แต่ก่อนจะลงมือปลูกอะไรนั้นแนะนำให้เริ่มต้นจากการ เตรียมดินปลูกผัก โดยตรวจสอบคุณภาพดินเสียก่อน คำนึงถึงคุณสมบัติการดูดซึมน้ำของดิน สังเกตความสามารถในการอุ้มน้ำและระบายน้ำของดิน เพราะหากดินอุ้มน้ำมากเกินไปจะทำให้รากของพืชผักเน่าเสียได้ง่าย และหากดินไม่อุ้มน้ำเลยต้นผักก็อาจเหี่ยวเฉาเพราะขาดน้ำดูดซึมมาหล่อเลี้ยงลำต้นเเละใบ

ทดสอบการเตียมดินอินทรีย์

ทดสอบการเตรียมดิน

วิธีการตรวจสอบคุณภาพการอุ้มน้ำของดินปลูกผักอย่างง่ายๆ โดยการขุดดินเป็นหลุมขนาด 30×30×30 เซนติเมตร เเล้วเติมน้ำให้เต็มหลุมที่เราขุด จับเวลาช่วงน้ำเต็มจนน้ำดูดซึมเเห้งไป (เวลาปกติ 120 – 180 นาที) หลังจากนั้น เติมน้ำลงให้เต็มหลุมเป็นครั้งที่สอง และเริ่มจับเวลาจนกระทั่งน้ำเหือดเเห้ง จากนั้นนำความลึกทั้งสองรอบคือ 60 เซนติเมตรหารด้วยเวลาทั้งสองรอบบวกกัน

  • รอบเเรกใช้เวลา 120 นาที รอบที่สองใช้เวลา 150 นาที รวม 120+150 = 270 นาที
  • นำ 60 เซนติเมตร หารด้วย 270 นาที=0.22 เซนติเมตรต่อนาที (เป็นค่ามาตรฐานที่ดีสำหรับพืชผัก)

หากดินมีค่าใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานนี้ ถือว่าเบื้องต้นเป็นดินที่เหมาะสมในการปลูกพืชผัก กล่าวคือ อุ้มน้ำพอดี ระบายน้ำพอดีกับรากพืชผัก ซึ่งส่วนใหญ่รากจะตื้น เเผ่กระจายบริเวณผิวดิน

หากผลการทดสอบดินมีค่าการดูดซับมากกว่า ค่านี้ ดินชนิดนั้นจะมีคุณสมบัติไม่อุ้มน้ำและมีอินทรียวัตถุน้อย ควรเพิ่มอินทรียวัตถุจากปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด ดินชนิดนี้เหมาะกับพืชที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศเเห้งเเล้ง

หากผลการทดสอบดินมีค่าการดูดซับน้อยกว่า ค่านี้ ดินชนิดนั้นจะเป็นดินที่อุ้มน้ำมาก เหมาะกับพืชที่มีความสามารถเเช่ในน้ำขังได้นานๆ

ในกรณีดินเป็นกรดหรือด่างจะทำให้ความสามารถในการดูดซึมธาตุอาหาร จากดินลดประสิทธิภาพลง เราสามารถทดสอบง่ายๆ ได้โดยนำดินมาละลายน้ำเเล้ววัดด้วยกระดาษลิตมัสเพื่อหาค่า pH (ค่าปกติ5.5 – 6.5) กรณีค่า pH เท่ากับ 4.5 – 5.0 แสดงว่าดินเป็นกรด ให้ใช้ปูนขาวช่วยปรับสภาพ ของเเถมที่ได้คือเเคลเซียมเสริมจากปูนขาวด้วยหรือถ่านแกลบ เหมาะกับดินเหนียวที่มีภาวะเป็นด่าง ในถ่านเเกลบยังมีโพเเทสเซียมสูง รวมถึงเมื่อย่อยสลายแล้วยังช่วยทำให้ดินร่วนซุยขึ้นด้วย กรณีค่า pH มากกว่าหรือเท่ากับ 7 แสดงว่าดินเป็นด่าง อันเกิดจากการสะสมหินปูนในดินเป็นปริมาณมาก มีการตรึงฟอสฟอรัสในดินมาก เป็นสาเหตุทำให้พืชขาดฟอสฟอรัส ควรเเก้ปัญหาโดยไถกลบตอซังอย่างสม่ำเสมอ เเละเพิ่มปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้เเก่ดินและช่วยให้ดิน อุ้มน้ำได้ดีขึ้น

ดินอินทรีย์

วิธีปรับสภาพดินให้สมบูรณ์

1 ใช้คราดเกลี่ยปรับหน้าดิน และย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง

2.โรยปูนขาวปรับสภาพดิน ที่มีความเป็นกรดสูง

3 ให้ใช้มูลสัตว์ที่แห้งแล้ว เนื่องจากมีการย่อยสลายที่สมบูรณ์แล้ว จึงไม่เกิดความร้อนจนเป็นอันตรายต่อพืช

4 รดน้ำหมักชีวภาพ ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์และทำให้เกิด การย่อยสลายของอินทรียวัตถุในดินได้ดีขึ้น ทำให้เนื้อดินร่วนซุยเหมาะสำหรับปลูกพืช

5. คลุมฟางข้าวทับหน้าดินเพื่อเก็บรักษาความชื้น ภายในดินที่กำลังหมักอยู่

สูตรปรุงดินให้อุดมด้วยธาตุอาหาร

  1. เริ่มจากชั้นล่างสุด ในดินที่เป็นดินเหนียว จะโรยแกลบดำสองกำมือต่อหนึ่งตารางฟุต (30×30 เซนติเมตร) กรณีที่เป็นดินทราย จะโรยเเกลบดำหนึ่งกำมือต่อ ตารางฟุต เเกลบดำจะช่วยทำให้ดินเหนียวร่วนซุยขึ้นและยังช่วยปรับสภาพดินที่มีสภาพเป็นกรดให้กลายเป็นกลางได้
  2. ดินที่ขาดเเคลเซียม เเมกนีเซียม จะโรย “ ปูนขาว ” (กรณีดินมีค่า pH เป็นกรด) หรือโรย ” ยิปซัม ” เพื่อการเกษตร (กรณีดินมีค่า pH เป็นกลาง) โดยโรยบางๆ ให้ทั่วแปลง
  3. มูลสัตว์ที่เเห้งเเล้ว โรยสามกำมือต่อตารางฟุต
  4. ปุ๋ยหมักออร์แกนิก สูตรไร่ปลูกรักจะใช้การหมักจากรำข้าว แกลบดำ มูลวัว น้ำหมักชีวภาพ น้ำตาล (โปรดติดตามสูตรในฉบับหน้า)
  5. รดน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำตาลและน้ำหนึ่งแก้วต่อหนึ่งตารางฟุต
  6. ใช้ฟางข้าวคลุมให้หนามองไม่เห็นดินด้านล่าง เพื่อช่วยป้องกันเเสงเเดดส่องถึงดินที่กำลังหมักไว้โดยตรง และช่วยลดการระเหยของน้ำหน้าดินที่กำลังหมัก
  7. รดน้ำเล็กน้อยทุกวันเพื่อควบคุมความชื้น อย่ารดน้ำมากจนปุ๋ยและอินทรียวัตถุไหลออกจากขอบแปลง
  8. หมักไว้ 7 วันก่อนปลูก หรือโรยเมล็ดพืชผัก