หน้าแรก / R-SCI 101, R-SCI FARMING • เมษายน 26, 2023

ประเภทของพลาสติกคลุมโรงเรือนปลูกผักอินทรีย์

พลาสติกคลุมโรงเรือน

รู้จักประเภทของพลาสติกคลุมโรงเรือน


พลาสติกคลุมโรงเรือน นับเป็นวัสดุทดแทนที่เกษตรกรนิยมนำมาใช้เพื่อทดแทนกระจกในการจัดสร้างโรงเรือนเพื่อการเพาะปลูก เพราะมีราคาที่ประหยัดกว่า และยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เหตุผลที่เราหันมาให้ความสนใจในการสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกพืชนั้น เพราะโรงเรือนจะช่วยควบคุมสภาพอากาศ ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และแสง ให้เหมาะสมกับพืชที่เราเพาะปลูกได้ดีขึ้น โดยลดผลกระทบจากสภาพภายนอกโรงเรือนได้ ทำให้ต้นพืชที่เราเพาะปลูกนั้นได้คุณภาพและมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น และยังช่วยขยายเวลาในการเพาะปลูกให้ยาวนานขึ้น และสามารถป้องกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชได้ดีขึ้น

พลาสติกคลุมโรงเรือนหรือบางคนอาจจะเรียกว่าฟิล์มคลุมโรงเรือน ซึ่งเป็นการนำฟิล์มโพลิเมอร์ที่ความหนาแตกต่างกันไป ตั้งแต่ฟิล์มแบบชั้นเดียวไปจนถึงหลายชั้น โดยเวลาเลือกซื้อก็สามารถระบุได้ว่าจะใช้ขนาดกี่ไมครอนและความกว้างเท่าไร ซึ่งที่เรานิยมแจ้งกับร้านค้าง่ายๆ ดังนี้

– พลาสติกคลุมโรงเรือน 100 ไมครอน

– พลาสติกคลุมโรงเรือน 150 ไมครอน

– พลาสติกคลุมโรงเรือน 200 ไมครอน

– พลาสติกคลุมโรงเรือน หน้ากว้าง

โดยที่ความหนา สารที่ใช้ในการผลิตพลาสติกและการนำมาใช้งานนั้นมีผลต่ออายุการใช้งานที่แตกต่างกัน เช่นพลาสติกสำหรับโรงเรือนขนาดใหญ่นั้น อาจต้องใช้ความหนาตั้งแต่ราว 100-220 ไมครอน และมีหน้ากว้างถึง 20 เมตร ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 48 เดือน บางครั้งการสภาพภูมิอากาศในเขตที่เราปลูกโรงเรือนอาจมีผลกระทบต่อการเสื่อสภาพของพลาสติกได้ เช่น ในสภาพที่แดดแรงจัด ส่วนโรงเรือนขนาดเล็กอาจจะใช้พลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอนและมีหน้ากว้าง 1 เมตรก็เพียงพอ โดยพลาสติกอาจมีอายุการใช้งานประมาณ 6-8 เดือน

นอกจากพลาสติกคลุมโรงเรือนแล้ว เรายังมีพลาสติกคลุมดิน ที่มีความหนาประมาณ 12-80 ไมครอน ที่เราใช้เพื่อควบคุมความชื้นในดินสำหรับแปลงปลูกต้นกล้าพันธุ์ ทำให้ต้นพืชเติบโตเร็วขึ้นและทำให้เราเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้นตามไปด้วย และยังช่วยในเรื่องการป้องกันการรบกวนของวัชพืชอีกด้วย แต่วัสดุคลุมดินอาจมีอายุการใช้งานราว 2-4 เดือน

การพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติที่สำคัญในการเลือกใช้พลาสติกคลุมโรงเรือน

ความทนทานของวัสดุ โดยต้องเลือกตัวพลาสติกที่เหมาะสมกับทำเลที่ตั้งโรงเรือนและสภาพการใช้งาน เพื่อยืดอายุการใช้งานของวัสดุให้นานที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของความแสงแดด ยิ่งแดดจัดเราต้องเลือกใช้พลาสติกที่ทนแดดทนร้อนได้ดียิ่งขึ้น
พลาสติกที่ใช้ควรให้แสงผ่านเข้ามาและกระจายแสงให้ทั่วโรงเรือนได้ดี และต้องป้องกันรังสีอินฟราเรดได้
ความสามารถในการป้องกันฝุ่นและป้องกันฝ้าน้ำ
ราคาที่เหมาะสมกับงบประมาณ
สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจจะสร้างโรงเรือนเพาะปลูกอาจจะต้องศึกษารายละเอียดต่างๆ ให้รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องของวัสดุที่นำมาใช้งาน ยิ่งใช้วัสดุที่คงทนและเหมาะสมกับพืชเท่าไร ยิ่งคุ้มค่ามากเท่านั้นครับ

พลาสติกคลุมโรงเรือน

พลาสติกคลุมโรงเรือน ช่วยกระจายแสง ลดอุณหภูมิได้


นอกจากพลาสติกโรงเรือนจะมีสารต้านรังสียูวีแล้ว ก็ยังมีการเพิ่มสารเติมแต่งที่ทำให้มีคุณสมบัติที่แตกต่างตามการใช้งานอีกด้วย

ชนิดใส (Green House -UV Clear Film) เป็นพลาสติกเนื้อใสที่ให้แสงผ่านลงมาได้โดยตรง คุณภาพของพลาสติกจะมีผลต่อค่าอัตราแสงผ่าน (Light Transmission in PAR) โดยสังเกตข้อมูลหรือขอดูเอกสารคุณสมบัติต่างๆ จากผู้จำหน่าย ซึ่งควรมีค่าอัตราแสงผ่านระบุอยู่ในเอกสาร
ชนิดกันรังสีอินฟาเรด (Green House – UV Cooling Diffused Film) เป็นการเพิ่มสารพิเศษให้เนื้อพลาสติกสะท้อนความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดออกมา เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับพลาสติกโรงเรือนทั่วไป เหมาะสำหรับพืชที่ไม่ทนร้อน เช่น ผักสลัด สตรอว์เบอร์รี่
ชนิดกระจายแสง (Green House – UV Diffused Film) มีคุณสมบัติกระจายแสงให้นวล ช่วยให้ใบพืชไม่ไหม้ และแสงสว่างกระจายได้ทั่วโรงเรือนแม้ในช่วงเวลาแสงน้อย พลาสติกมีลักษณะขุ่น แต่ด้วยเทคนิคการผลิตจึงมีค่าอัตราแสงผ่านเทียบเท่ากับแบบใสที่ประมาณ 90% และสามารถกระจายแสงได้กว่า 40%