หน้าแรก / R-SCI 101 • เมษายน 26, 2023
วิธีกำจัดศัตรูพืชให้อยู่หมัดด้วยเกษตรอินทรีย์ มีวิธีไหนบ้าง
วิธีป้องกันศัตรูพืชนั้นมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นวิธีใช้สารเคมีและไม่ใช้สารเคมี แต่กระแสการปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมีหรือ “เกษตรอินทรีย์” เริ่มมีความสำคัญในยุคสมัยใหม่เนื่องจากผู้คนเริ่มหันมาสนใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น อีกทั้งการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลับมีปัญหาต่างๆ ตามมาทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เกิดสารเคมีตกค้าง เพิ่มต้นทุน และเกิดปัญหาศัตรูพืชดื้อยาอีกด้วย
แสดงว่าการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยการใช้สารเคมีนั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ซึ่งวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช คือ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดย “วิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management)” เพื่อป้องกันการตกค้างของสารเคมี ลดต้นทุน และลดปัญหาศัตรูดื้อยา ปัจจัยขึ้นอยู่กับชนิดพืช ชนิดของศัตรูพืช ความรุนแรงของการระบาด ลักษณะการทำลาย การกระจายตัวของศัตรูพืช ราคาของผลผลิต รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจ และสังคมของเกษตรกร
การปลูกพืช(ผัก)แบบปลอดสารเคมีได้หรือไม่? หรือจะอารักขาพืชในแปลงเกษตรอินทรีย์อย่างไรให้สามารถลดการทำลายของศัตรูพืชลงได้? อาจารย์สุเทพจึงรวบรวมวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช มีวิธีใดบ้าง ไปดูกันเลย
การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้พันธุ์พืชต้านทาน
พันธุ์พืชต้านทาน หมายถึง พันธุ์พืชที่แมลงไม่ชอบทำลาย หรือทนทาน ถูกทำลายแล้วได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย สามารถให้ผลผลิตและคุณภาพสูงกว่าพันธุ์พืชชนิดเดียวกันที่ปลูกในสภาพแวดล้อมที่มีปัญหาเหมือนกัน
ใช้พันธุ์ต้านทานช่วยป้องกันศัตรูพืชได้อย่างไร?
กลไกการต้านทานของพืชนั้นอาจเกิดจากกายวิภาคของพืชที่ทำให้แมลงไม่ชอบกิน หรือไม่ชอบวางไข่บนต้นพืช (non – preference) เช่น ใบพืชที่มีขนจะลดการวางไข่ของแมลงบางชนิดได้ หรือการที่พืชผลิตสารบางชนิดที่ทำให้แมลงไม่ขยายพันธุ์ หรือมีผลต่อการเจริญเติบโตของแมลงได้ (antibiosis) ตัวอย่างเช่น ข้าวพันธุ์ที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล อ้อยพันธุ์อู่ทอง 1 พันธุ์เค-84-200 และพันธุ์ 87-2-807 จะถูกหนอนกอลายจุดใหญ่ทำลายน้อยกว่าพันธุ์ 87-2-1085
.
การกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีเขตกรรม
เป็นวิธีกำจัดศัตรูพืชที่ทำได้ง่าย ประหยัด ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไป แต่อาจจะได้ผลเพียงศัตรูพืชบางชนิด และต้องทำบ่อยครั้ง ทำได้หลากหลายวิธี เช่น ไขน้ำท่วมแปลงเพื่อทำลายแมลงศัตรูพืชที่อยู่ในพื้นที่ก่อนทำการปลูกพืช ไถเตรียมดินเพื่อกำจัดแมลง ตัดแต่งกิ่งไม้ยืนต้นหรือถอนต้นพืชไร่และพืชล้มลุกที่พบเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน หรือเพลี้ยหอยแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลง
.
การกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีกล
เทคนิคการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีกล คือ การกำจัดศัตรูพืชโดยการใช้อุปกรณ์ ปฏิบัติง่าย และรวดเร็ว แต่มีข้อเสียคล้ายกับวิธีเขตกรรม นั่นคือ ต้องทำประจำและบ่อยครั้งเพราะแมลงศัตรูพืชสามารถกลับเข้ามาทำลายได้อีก ตัวอย่างการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีกล เช่น
· การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง 80 – 100 กับดักต่อไร่ สามารถลดการทำลายของเพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาวในแปลงผักได้
· การกำจัดศัตรูพืชโดยห่อผลในมะม่วง ชมพู่ และฝรั่งสามารถลดการทำลายของแมลงวันผลไม้ได้
· การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้กับดักหลุมเพื่อดักจับตัวเต็มวัยของด้วงหนวดยาวอ้อย การพันตาข่ายรอบโคนต้นทุเรียนและมะม่วงเพื่อดักจับตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาว
· การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้มือเก็บหนอนหรือกลุ่มไข่ของหนอนเพื่อลดการทำลาย
· การกำจัดศัตรูพืชโดยเก็บหอยเชอรี่ในนาข้าว
· การกำจัดศัตรูพืชโดยเก็บตัวเต็มวัยแมลงนูนหลวงมาทำลายหรือบริโภค
· การกำจัดศัตรูพืชโดยตัดหน่ออ้อยที่มีหนอนกออ้อยไปทำลายนอกแปลง
· การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้กับดักฟีโรโมนก็อนุญาตให้ใช้ในเกษตรอินทรีย์ได้
.
การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้สารสกัดจากพืช
มีรายงานว่าสารสกัดจากพืชหลายชนิดมีศักยภาพในการป้องกันกำจัดแมลงและศัตรูพืช โดยทางมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อนุญาตให้ใช้สารที่เตรียมจากพืชธรรมชาติได้ ยกเว้นยาสูบ ตัวอย่างสารสกัดจากพืชที่ใช้กำจัดศัตรูพืชได้ เช่น ว่านน้ำ โล่ติ๊น(หางไหล) หนอนตายหยาก สะเดา ตะไคร้หอม ข่าแดง บอระเพ็ด กากเมล็ดชา เป็นต้น
.
การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้น้ำมันปิโตรเลียมและไวท์ออยล์
น้ำมันพาราฟิน น้ำมันปิโตรเลียม และไวท์ออยล์ เป็นผลพลอยได้จากการสกัดน้ำมันปิโตรเลียมมีกลไกการออกฤทธิ์ทำลายแมลงศัตรูพืชโดยไปอุดรูหายใจ ลดออกซิเจน และป้องกันการแลกเปลี่ยนอากาศ งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรมีรายงานและคำแนะนำมากมายว่าสามารถกำจัดศัตรูพืชได้มากมาย เช่น เพลี้ยไก่แจ้ในส้มและทุเรียน หนอนชอนใบในส้มเขียวหวาน เพลี้ยไฟในกะเพราและโหระพา แมลงหวี่ขาวในกะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง และถั่วเหลือง เพลี้ยแป้งในน้อยหน่า เพลี้ยหอยในส้มเขียวหวาน ไรแดงในทุเรียน และไรสนิมส้ม เป็นต้น
อัตราแนะนำในการใช้น้ำมันปิโตรเลียมและไวท์ออยล์อยู่ระหว่าง 30 – 150 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร (ขึ้นกับชนิดของแมลงและชนิดพืช) การใช้อัตราเข้มข้นเกินไปอาจมีปัญหาเกิดความเป็นพิษต่อพืชได้ และห้ามผสมกับกำมะถันหรือซัลเฟอร์เนื่องจากจะเกิดพิษต่อพืชได้
.
การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้สารชีวภัณฑ์และศัตรูธรรมชาติ (ตัวห้ำ ตัวเบียน)
เป็นวิธีกำจัดศัตรูพืชและโรคพืชโดยการใช้สารหรือสิ่งมีชีวิตจากธรรมชาติให้ควบคุมกันเอง ตัวอย่างการใช้สารชีวภัณฑ์และศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ การใช้เชื้อบีที (บาซิลลัส ทูริงเจนซิส) สามารถป้องกำจัดหนอนผีเสื้อได้ การใช้เชื้อไวรัสเอ็น พี วี (NPV) สามารถป้องกันกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้ผัก และหนอนกระทู้หอมได้ การใช้เชื้อราขาวบิวเวอร์เรียและเชื้อราเขียวเมทาไรเซียมสามารถกำจัดเพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาวได้ เป็นต้น
นอกจากนี้อาจมีการเลี้ยงและปล่อยศัตรูธรรมชาติให้ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต แมลงช้างปีกใส แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา เป็นต้น และยังมีเชื้อราปฏิปักษ์ที่ช่วยป้องกันกำจัดโรคพืชได้ เช่น เชื้อราบาซิลลัส ซับติลิส และเชื้อราไตรโคเดอมา เป็นต้น
.
การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้สารอื่นๆ
เกษตรกรสามารถใช้น้ำมันจากพืชหรือสัตว์ กำมะถัน ซิลิเกต โซเดียมซิลิเกต โซเดียมไบคาร์บอเนต หรือน้ำส้มควันไม้ เพื่อช่วยป้องกันกำจัดศัตรูพืชในแปลงพืชผักได้
.
ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่มีการเปิดตลาดการค้าเสรี ทำให้ประเทศไทยต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะจะต้องมีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเหมาะสมเพื่อลดปัญหาด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช วิธีการดังกล่าวข้างต้นสามารถมาปรับใช้กับพืชที่ต้องการลดการใช้สารเคมีหรือปลอดสารเคมี โดยเฉพาะช่วงใกล้เก็บเกี่ยว หรือการผลิตพืชในแปลงเกษตรอินทรีย์ แต่การที่จะป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ได้ประสิทธิผลจะต้องใช้หลายๆ วิธีผสมผสานกัน โดยให้สอดคล้องกับปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรจะหาได้ในท้องถิ่นของตนเอง โดยเฉพาะควรผลิตใช้เองในครอบครัว หรือในกลุ่มเพื่อจะได้ลดต้นทุนการผลิตไปได้อีกทางหนึ่ง