หน้าแรก / R-SCI 101, R-SCI FARMING • กรกฎาคม 6, 2023
3 ข้อควรรู้ ก่อนปลูกผักอินทรีย์ มีอะไรบ้าง
การบริโภคผักอินทรีย์มีความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น จากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น การเลือกกินผัก-ผลไม้ ที่ผลิตในระบบอินทรีย์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค ในด้านการผลิตเกษตรกรหันมาสนใจปลูกผักอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในการปลูกผักอินทรีย์นั้น ไม่ใช่สารเคมีสังเคราะห์ใดๆ ในทุกขั้นตอนการผลิต ช่วยให้สุขภาพของเกษตรกรดีขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงกับการได้รับสารเคมี และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะทั้งทางดิน น้ำ และอากาศ แต่ก่อนที่เราจะเริ่มปลูกผักอินทรีย์ เรามาดู 3 ข้อที่ควรรู้และทำความเข้าใจก่อนเริ่มปลูกผักอินทรีย์กันค่ะ
1. ข้อกำหนดและมาตรฐานอินทรีย์
ข้อแรกนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรควรรู้ คือ ในปัจจุบันมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยจะมีมาตรฐานที่รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร และมาตรฐานต่างประเทศที่นิยม ได้แก่ มาตรฐาน IFOAM โดยประเด็นหลักๆ ที่เกษตรกรควรรู้ก่อนการขอรับรองเกษตรอินทรีย์ สามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความ ‘เกษตรอินทรีย์ 8 ข้อห้ามทำ 9 ข้อต้องทำ’ ของ ดร.เพชรดา อยู่สุข
2. วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสารชีวภัณฑ์
ในการปลูกพืช ปัญหาหลักที่จะต้องเจอก็คือปัญหาโรคและแมลง ซึ่งในการปลูกผักอินทรีย์จะไม่สามารถใช้สารเคมีทุกชนิดในการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงได้ จะเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีเป็นสารชีวภัณฑ์ ร่วมกับการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) โดยสามารถทำได้ ดังนี้ – การเขตกรรม : การดูแลแปลงให้สะอาดอยู่เสมอ ไถพรวนกลับหน้าดินเพื่อทำลายไข่และตัวอ่อนแมลง ใส่โดโลไมท์เพื่อปรับความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดิน และปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรโรคและแมลง – วิธีกล : ใช้กับดักแมลง เช่น กับดักกาวเหนี่ยว จับและทำลายแมลง หนอนภายในแปลง – ใช้พันธุ์พืชที่ต้านทานโรคและแมลง – ชีววิธี : ใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน และใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันและกำจัดโรคแมลง โดยสารชีวภัณฑ์ที่ใช้ในพื้นที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และมูลนิธิโครงการหลวง มีดังนี้
ชื่อสารชีวภัณฑ์ ใช้ป้องกันและกำจัด
- พีพี-เมทา หนอนกินใบ ด้วงงวงมันเทศ เสี้ยนดิน ด้วงหมัดผัก
- พีพี-ไตรโค พ่นทางใบป้องกันโรคใบจุด ใบไหม้ ใช้หยอดลงดินป้องกันโรครากเน่าจากเชื้อรา
- พีพี-สเตร็บโต โรครากเน่าจากเชื้อรา Fusarium spp. และ Pythiurm spp.
- พีพี-บีเค 33 โรคราเมล็ดผักกาด โรคราน้ำค้าง โรคใบจุด โรคใบไหม้ โรคเหี่ยวเขียว โรคดอกเน่า โรคผลเน่า
- พีพี-บี10 โรคเหี่ยวเขียวจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstinia solanacearum ในพืชตระกูลพริกและมะเขือ
- พีพี-บี15 โรคผลเน่าจากเชื้อรา Colletotrichum, Aspergillus และ Rhizopus sp.
ในพืช เช่น พริก - พีพี-เบ็บ แมลงหวี่ขาวในมะเขือเทศ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ มอด แมลงค่อมทอง แมลงหางหนีบ
- น้ำหมักพีพี 1 โรคพืชบางชนิดและแมลงปากดูด
- น้ำหมักพีพี 2 หนอนกินใบพืชที่อยู่เหนือดิน
- น้ำหมักพีพี 3 แมลงปากดูด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไร
- น้ำหมักพีพี 6 ด้วงปีกแข็งขนาดเล็ก
- สบู่อ่อน 50 ml. ใช้ทดแทนสารจับใบ และ 300 ml. กำจัดเพลี้ยอ่อน
3. การทำปัจจัยการผลิตไว้ใช้เองง
ในการทำเกษตรอินทรีย์ การทำปัจจัยการผลิตไว้ใช้เองเป็นวิธีที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังช่วยให้มั่นใจว่าไม่มีสารเคมีเจือปน ซึ่งปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่ใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น น้ำหมักสมุนไพร ฮอร์โมนไข่ ปุ๋ยหมัก จะช่วยให้พืชผักของเราโตเร็ว น้ำหนักดี มีคุณภาพ ใบสวยขึ้น เกษตรกรสามารถทำไว้ใช้เองได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างวิธีการทำฮอร์โมนไข่ โดยมีวิธีการทำ ดังนี้
วิธีทำน้ำหมักฮอร์โมนไข่
- – ใช้ไข่ไก่ 5 กก. นำลงไปปั่นพร้อมเปลือกให้ละเอียด
- – ชั่งกากน้ำตาล 5 กก. แล้วนำไปผสมกับไข่ไก่ที่ปั่นแล้ว
- – ผสมยาคูลท์และแป้งข้าวหมาก แล้วคนในเข้ากัน
- – ปิดฝา ทิ้งไว้ในร่ม 14 วัน สามารถนำไปใช้ได้
อัตราการใช้ 2 ช้อนแกง หรือ 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อบำรุงต้นให้เจริญเติบโตเร็ว ใบสวย มีน้ำหนักผลผลิตดี โดยฉีดพ่นบริเวณลำต้นและใบ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และสามารถใช้ฉีดพ่นไม้ผลเพื่อกระตุ้นการออกดอก โดยฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม ข้อควรระวัง หากต้นพืชติดดอกแล้ว ห้ามฉีดพ่นโดนดอก จะทำให้ดอกร่วง ควรหลีกเลี่ยงโดยใช้การราดที่โคนต้นแทน
วิธีทำน้ำหมัก สมุนไพร 7 รส
“เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช”
การทำน้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพจากสมุนไพร 7 รส ที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร มีวิธีทำที่เหมือนกันทุกรส แตกต่างกันที่วัตถุดิบหลัก คือ สมุนไพรแต่ละชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องเลือกใช้ให้ตรงกับความต้องการของเรา
“น้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพ คือ อาหารของจุลินทรีย์ ไม่ใช่จุลินทรีย์ แต่เป็นอาหารจุลินทรีย์ จะทำให้จุลินทรีย์แข็งแรงและเพิ่มจำนวน ช่วยในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุอย่างรวดเร็ว”
สมุนไพร 7 รส
- สมุนไพรที่มี รสจืด : บำรุงดิน บำบัดน้ำ บำบัดของเสีย เช่น ข้าว, ย่างนาง, ผักบุ้งไทย, รวงข้าว, ผักตบชวา, หน่อกล้วย
- สมุนไพรที่มี รสขม : สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย เช่น ฟ้าทะลายโจร, สะเดา, บอระเพ็ด, หญ้าใต้ใบ, เสลดพังพอน, ขี้เหล็ก
- สมุนไพรที่มี รสฝาด : ป้องกันเชื้อราในโรคพืช เช่น เปลือกแค, เปลือกมังคุด, ใบฝรั่ง, ใบทับทิม, เปลือกลูกเนียง
- สมุนไพรที่มี รสเมาเบื่อ : ป้องกันแมลง ฆ่าหนอน เพลี้ย และแมลงอื่นๆ เช่น หางไหล, ขอบชะนางแดง-ขาว, สลัดได, แสยก, หนอนตายหยาก, ใบน้อยหน่า, พญาไร้ใบ, เม็ดมะกล่ำ
- สมุนไพรที่มี รสหอมระเหย : ป้องกันและไล่แมลง เปลี่ยนกลิ่นต้นพืช เช่น ตะไคร้หอมไล่ยุง, ตะไคร้บ้าน, สาบเสือ, โหระพา, กะเพรา, ผักชี, กะทกรก
- สมุนไพรที่มี รสเผ็ดร้อน : ป้องกันและกำจัดแมลง ทำให้แมลงแสบร้อน เช่น พริก, พริกไทย, ข่า, กระเทียม, ดีปลี
- สมุนไพรที่มี รสเปรี้ยว : ป้องกันไล่แมลง เช่น เปลือกส้ม, มะนาว, มะกรูด, มะขาม, สับปะรด, มะเฟือง, ตะลิงปลิง
วิธีทำน้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพจากสมุนไพร 7 รส และส่วนผสม
- ถังหมักทำจากวัสดุที่ไม่ถูกกัดกร่อนป้องกันไม่ให้แสงและอากาศเข้าได้ ( ถังพลาสติก โอ่งมีฝาล็อค 200 ลิตร ) สีน้ำเงิน มีเข็มขัดล็อค
- พืชแต่ละรสที่เราต้องการหมัก 3 ส่วนเทียบเป็นกิโลกรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
- หวาน สำคัญถ้าน้ำตาลน้อยจะทำให้เน่า น้ำตาลชนิดต่างๆ 1 ส่วน หรือ 1 กก. ยกเว้นน้ำตาลทรายขาว, กากน้ำตาล แนะนำน้ำตาลที่คนกินได้เช่น น้ำตาลทรายแดง, น้ำตาลปี๊บ, น้ำตาลปึก, น้ำตาลอ้อย
- น้ำหมักเก่า ที่หมักจากพืชรสจืด 1 ส่วน, 1 กก, 1 ลิตร ไปเร่งปฎิกิริยาให้ย่อยเร็วขึ้น ไม่ใส่ได้แต่จะย่อยช้า ต้องหมักนานขึ้น
- น้ำเปล่า น้ำสะอาด 10 กิโลกรัม = 10 ลิตร
- สรุปอัตราส่วน พืช 3 กก + หวาน ( น้ำตาล ) 1 กก + น้ำหมักเก่า ( รสจืด ) 1 ลิตร + น้ำสะอาด 10 ลิตร ( ถ้าใช้อ้อยสด ใช้อัตราเท่ากับพืช 1:1 เช่น พืช 3 กก ใช้อ้อยสด 3 กก )
- หากจะหมักเพิ่มขึ้นสามารถปรับได้จากอัตราส่วนด้านบนเพิ่มจำนวนได้
- ทุกสูตรขั้นตอนการทำเหมือนกัน เปลี่ยนแค่พืชอย่างเดียว
- ถ้าใช้หน่อกล้วย ใช้หน่อกล้วยได้ทุกชนิด ใช้หน่อที่สูงประมาณ 1 เมตร
- เททุกอย่างลงในถังคนให้เข้ากัน+น้ำหมักรสจืดเก่าจะเกิดจุลินทรีย์ทำปฎิกิริยาย่อยกันก่อนหมักไว้ 15 วัน แล้วค่อยเปิดเติมน้ำนับต่อไปอีก 30 วัน
- 3 วันมาเปิดระบายแก๊สครั้งหนึ่ง ถ้ามีหนอนไม่ต้องตกใจเดี๋ยวมันจะตายและย่อยสลายอยู่ในนี้
- เดือน1 เป็น แก๊ส, เดือน 2 เป็นกรด, เดือนที่ 3 เป็น แอลกอฮอล์
- สำคัญที่สุดอย่าให้แสงกับอากาศเข้า เป็นเวลานานมันถึงจะเริ่มย่อย เมื่อเริ่มย่อยจะเกิดแก๊ส ต้องคอยมาเปิดระบายแก๊สออก ( ต้องมีช่องว่างด้านบนระหว่างฝากับน้ำหมัก ประมาณ 10% ของถัง ถ้าไม่มีช่องว่างจะบวมและฝาแตก )
- พอครบ 3 เดือน หรือจะ 4, 5, 6 เดือน ก็ได้ไม่เป็นไร แล้วค่อยเอาน้ำไปใช้ เน้นน้ำหมักรสจืดเป็นหลักเพราะจะใช้เยอะ
- ใช้ได้นานจนกว่าจะมีกลิ่นเหม็น ถ้ามีกลิ่นเหม็นแปลว่าจุลินทรีย์กินน้ำตาลหมดแล้ว ให้ละลายน้ำตาล 100 ลิตร / น้ำตาล 1 กก แล้วคน ให้เข้ากันแล้วปล่อยทิ้งไว้ 10-20 วัน
- ถ้ากลิ่นกลับมาสภาพเดิมแปลว่า น้ำตาลพอดีแล้ว นำไปใช้ต่อได้
- ถ้ากลิ่นยังไม่กลับมาเหมือนเดิมยังเหม็นอยู่ ให้ลองเติมเพิ่มอีก 0.5 กก คนแล้วรอดูอีก 10 วัน ถ้ากลิ่นยังไม่กลับมาเหมือนเดิม แสดงว่า น้ำตาลยังไม่พอให้เติมน้ำตาลอีก 0.5 กก คนให้เข้ากัน รอ 10 วันไปเรื่อยๆ จนกว่ากลิ่นจะกลับมาไม่เหม็นเหมือนเดิมจึงนำไปใช้ต่อได้
วิธีคำนวณทำน้ำหมัก ถัง 200 ลิตร
สูตร 3:1:1:10 = 15 ส่วน + ช่องว่าง 1 ส่วน = 16 ส่วน
200 ลิตร / 16 ส่วน = 12.5 ลิตร ( กิโลกรัม ) / 1 ส่วน
พืช : 3 ส่วน x 12.5 = 37.5 กก.
หัวเชื้อ ( น้ำหมักรสจืดเก่า ) : 1 ส่วน = 12.5 ลิตร
น้ำตาลทรายแดง : 1 ส่วน = 12.5 กก.
น้ำสะอาด : 10 ส่วน x 12.5 = 125 ลิตร
คนให้เข้ากันสม่ำเสมอถ้าคนไม่เข้ากันจะเน่า ต้องคนให้น้ำตาลละลาย
วิธีใช้น้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพ
- ใช้รดราดดิน บำรุงดิน น้ำหมักรสจืด 1 : น้ำ 200 ( ถ้าเป็นสะระแหน่ ต้องใช้ 1: 2,000 )
- ใช้ฉีดพ่นใบ น้ำหมัก 1 : 400
- ใช้บำบัดน้ำในบ่อ น้ำหมักรสจืด 10 ลิตร : บ่อน้ำ 1 ไร่
- ฉีดพ่นพื้นคอกสัตว์ ดับกลิ่นสิ่งปฎิกูล ราดชักโครก น้ำหมักรสจืด 1 : น้ำ 200
- ไล่แมลงวัน : 1/100
- ฆ่าหญ้า : 1/10 + เกลือ
ตัวอย่าง
ถ้าใช้บัวรดน้ำขนาด 10 ลิตร จะใช้น้ำหมัก 50 ซีซี หรือประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ