หน้าแรก / R-SCI 101 • เมษายน 26, 2023
ปลูก-เก็บ-กินถูกวิธี สมุนไพรอินทรีย์ ดีต่อสุขภาพ
อยากมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หลายๆคนจึงเลือก ปลูกสมุนไพร ประจำบ้านและพืชเครื่องเทศสำหรับรับประทานเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและรักษาอาการเจ็บป่วยให้แก่ร่างกาย เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น
การ ปลูกสมุนไพร และใช้สมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมีมาตั้งแต่อดีตแล้ว ส่วนใหญ่นำมาบริโภคเป็นผัก ใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารหรือทำเครื่องแกงต่าง ๆ หากปลูกติดบ้านไว้ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยหลายชนิดถูกบรรจุเป็นสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน ใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการเบื้องต้นที่พบบ่อย ๆ
ตัวอย่างเช่น ขิง ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดจุกเสียด ขับลม แก้ไอและระคายคอจากเสมหะ ขมิ้นชัน ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหาร ท้องอืด จุกเสียด อาหารไม่ย่อย หรือใช้ทาแก้อาการแพ้ คัน อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ฟ้าทะลายโจร ใช้แก้ท้องเสีย แก้ไข้ บรรเทาอาการเจ็บคอและอาการของโรคหวัด กระเทียม ช่วยย่อยอาหาร แก้ไอ ขับเสมหะ ใช้แก้กลากเกลื้อน ว่านหางจระเข้ ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นต้น
“อย่างไรก็ตาม การผลิตสมุนไพรอินทรีย์ นอกจากคำนึงถึงปริมาณผลผลิตและปริมาณสารสำคัญในพืชสมุนไพรแล้ว จำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณ วิธีใช้ และข้อควรระวังต่าง ๆ อีกทั้งอายุและช่วงเวลาเก็บเกี่ยวสมุนไพร ซึ่งมีผลโดยตรงและเป็นปัจจัยกำหนดปริมาณสารสำคัญที่เหมาะสม ซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดและสายพันธุ์ของพืชสมุนไพร”
ข้อคิดเกี่ยวกับการผลิตและใช้ประโยชน์สมุนไพรโดย อาจารย์ ดร.เทิดศักดิ์ โทณลักษณ์ จากสาขาวิชาวิทยาการสมุนไพร คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชสมุนไพรอินทรีย์และห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางพืชสมุนไพร ซึ่งเผยแพร่ความรู้และเปิดอบรมเกี่ยวกับการผลิตสมุนไพรอินทรีย์แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป
“ตลอดระยะเวลาการทำงานวิจัยด้านสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า กระแสความนิยมเรื่องสมุนไพรมีมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมายที่สนับสนุนให้การใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรหลายชนิดให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่ทันสมัย สะดวกต่อการใช้งาน และปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น แต่ยังพบข้อจำกัดและอุปสรรคที่ทำให้การผลิตพืชสมุนไพรไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากการผลิตพืชสมุนไพรบางชนิดมีต้นทุนสูง และมีการรับซื้อเพื่อไปใช้เป็นวัตถุดิบปริมาณน้อย รวมถึงปัญหาในการผลิตสมุนไพรที่ยังขาดข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดจำแนกสายพันธุ์ การปรับปรุงพันธุ์ ปัจจัยการผลิต อีกทั้งเทคโนโลยีการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณสารสำคัญในสมุนไพรก็ยังมีข้อมูลจำกัดเช่นกัน”
ปลูกสมุนไพรเก็บใช้เอง ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง
การปลูกสมุนไพรแล้วเก็บมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนถือเป็นการพึ่งพาตัวเองในการรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นที่ทุกคนทำได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกเลี้ยง และวิธีการใช้ประโยชน์ได้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ
การปลูกสมุนไพรเหล่านี้ไม่ต่างกับการปลูกพืชผักสวนครัวทั่วไป เพียงแต่จำเป็นต้องรู้ลักษณะนิสัยและสภาพที่เหมาะสมกับพืช เช่น พืชชนิดนั้นเป็นไม้ต้น ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย หรือไม้หัว มีอายุปีเดียวหรืออายุยืนหลายปี ชอบแสงแดดหรือร่มเงา ต้องการน้ำมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
การผลิตสมุนไพรอินทรีย์
“ในประเทศไทยมีการใช้สมุนไพรเพื่อเป็นยารักษาโรค เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมานานแล้ว แต่การปลูกพืชสมุนไพรเป็นการค้ายังมีน้อยและเป็นสิ่งท้าทายใหม่ที่ประเทศของเราเพิ่งเริ่มต้น เนื่องจากมีข้อจำกัดในกระบวนการผลิตค่อนข้างมาก เพื่อให้ได้มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice : GMP) และเหมาะสมตามมาตรฐานของตลาดโลก ดังนั้นหากเราต้องการผลิตสมุนไพรให้ได้การรับรองมาตรฐานและปลอดภัยจากสารเคมีปนเปื้อน การผลิตสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์จึงเป็นระบบที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะรับประกันได้ว่าปราศจากสารเคมี ทั้งส่วนของสมุนไพรที่นำมาปลูกหรือที่เรียกว่ากิ่งพันธุ์ พื้นที่ในการผลิต และวิธีการเก็บรักษา”
“การปลูกพืชทั่วไปมักเน้นเรื่องความสวยงามหรือให้ผลผลิตขนาดใหญ่ ขณะที่การปลูกพืชสมุนไพรนั้น สิ่งที่ต้องการมากที่สุดก็คือปริมาณสารสำคัญที่มีสรรพคุณทางยา เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระ น้ำมันหอมระเหย สารยับยั้งอาการอักเสบต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยที่ช่วยเพิ่มปริมาณสารสำคัญในพืช ได้แก่ พันธุ์พืช แหล่งปลูก การจัดการแร่ธาตุ ตลอดจนการให้พืชได้รับความเครียดเพื่อกระตุ้นให้สร้างสารสำคัญ เช่น การบังคับน้ำ แสง อุณหภูมิ ตลอดจนการกระตุ้นด้วยจุลินทรีย์ แต่อย่างไรก็ตามการกระตุ้นดังกล่าวต้องคำนึงถึงความเสียหายที่กระทบกับปริมาณผลผลิตด้วยเช่นกัน”
“ปัจจุบันมีการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือต้นพันธุ์ปลูกไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร อีกทั้งมีการนำต้นพันธุ์ออกจากป่าโดยไม่ได้ปลูกทดแทน ทำให้ปริมาณต้นพันธุ์ในป่าลดลง ส่งผลต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของพืช สมุนไพรบางชนิดจึงสูญพันธุ์ไป ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (Tissue Culture) ในการเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์ให้ได้ปริมาณมากในเวลาที่รวดเร็วจะสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้”
มื่อเลือกชนิดพืชได้แล้วก็ถึงขั้นตอนการปลูก ซึ่งทำได้ 2 วิธีหลัก ๆ คือ ปลูกลงแปลงดิน ซึ่งเหมาะกับผู้มีพื้นที่อย่างน้อย 2-3 ตารางเมตร และปลูกลงกระถาง ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่รอบบ้านไม่มากนัก แต่ที่สำคัญก็คือต้องปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก
“สำหรับต้นพันธุ์สมุนไพรต่าง ๆ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านจำหน่ายต้นไม้ อาจารย์แนะนำว่าควรปลูกพันธุ์ที่มีประจำอยู่ในท้องถิ่น หรือเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพแวดล้อม เพราะจะช่วยให้ต้นพืชเจริญเติบโตได้ดี ต้านทานต่อโรค แมลง ส่งผลให้ผลผลิตสูง”
ตัวอย่างสมุนไพรประจำบ้าน
1. กระชาย
กระชาย กระชายเหลืองหรือกระชายขาว เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นแท้อยู่ในดิน และลำต้นเทียมเจริญขึ้นเป็นกอสูง 40-50 เซนติเมตร มีเหง้าสั้น รากอวบ ยาวรีคล้ายนิ้วมือ ออกเป็นกระจุกสีน้ำตาล เนื้อในสีเหลืองมีกลิ่นเฉพาะตัว ในน้ำมันหอมระเหยมีองค์ประกอบหลักคือ ซินีออล (Cineol) และบอร์นีออล (Borneol) ซึ่งมีฤทธิ์ขับลม ทั้งยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ
นอกจากใช้เหง้าและรากเป็นองค์ประกอบในเครื่องแกงแล้ว ยังใช้หั่นซอยใส่อาหารเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมและช่วยให้เจริญอาหาร มีสรรพคุณเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ แก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ขับปัสสาวะ และใช้ทาภายนอกแก้กลากเกลื้อน งูสวัด
1. ขมิ้นชัน
ขมิ้นชัน พืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นแท้อยู่ในดินเรียกว่า “เหง้า” ลำต้นเทียมเหนือดินขึ้นเป็นกอ ใบเป็นกระจุก ส่วนที่นำมาใช้คือเหง้าในดินที่มีอายุ 9-10 เดือน เนื้อในเหง้ามีสีเหลืองถึงสีส้ม นิยมใส่ในเครื่องแกงของภาคใต้และภาคเหนือบางชนิด
นอกจากใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อแต่งกลิ่น สี และรสชาติของอาหารแล้ว ขมิ้นยังเป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาการอักเสบในระบบทางเดินอาหารและแผลในกระเพาะอาหาร จนมีการผลิตเป็นแคปซูลขมิ้นและใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยากันยุง และอื่น ๆ
3. ขิง
ขิง พืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นแท้อยู่ในดินเรียกว่า “เหง้า” ต้นเหนือดินเป็นลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน จัดเป็นเครื่องเทศที่ใช้ส่วนของเหง้าในการปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติอาหารหลายชนิด เช่น ขิงซอยใส่ในแกงฮังเล ต้มส้มปลา ปลานึ่ง ใส่ในยำต่าง ๆ ช่วยให้เจริญอาหาร นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยาอีกมากมาย โดยเฉพาะแก้ท้องอืดเฟ้อและขับลมในลำไส้
3. กระเทียม
กระเทียม พืชล้มลุก ต้นสูง 30-50 เซนติเมตร ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน แบนและแคบยาว มีหัวอยู่ใต้ดินซึ่งเป็นส่วนของก้านใบที่ใช้สะสมอาหาร แต่ละหัวประกอบด้วยกลีบหลายกลีบเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ สามารถแยกออกจากหัวได้ บางพันธุ์แต่ละหัวมีเพียงกลีบเดียว เรียกว่า กระเทียมโทน
กระเทียมเป็นเครื่องเทศที่รู้จักแพร่หลาย เป็นยาอายุวัฒนะและสมุนไพรรักษาโรคได้มากมาย สรรพคุณของกระเทียมที่รู้จักกันมานาน ได้แก่ แก้กลากเกลื้อน ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับเหงื่อ และขับปัสสาวะ ทั้งยังช่วยลดความดันโลหิตและลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย
3. ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร พืชล้มลุก ต้นสูง 30-70 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งมาก ทุกส่วนของต้นมีรสขม ใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรคือ ใบสด ใบแห้ง และทั้งต้น โดยเก็บใบมาใช้ได้เมื่อต้นมีอายุประมาณ 3-5 เดือน
มีฤทธิ์ต้านไวรัส ลดอักเสบ ขับเหงื่อ แก้ท้องเสีย บรรเทาอาการไข้ ไอ และเจ็บคอ มีการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการต้านไวรัสได้ดี โดยเฉพาะหากรับประทานฟ้าทะลายโจรทันทีที่เป็นหวัด อาการหวัดจะไม่รุนแรง หรือเมื่อเป็นแล้วจะหายเร็วขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการมาก ๆ แล้วมักใช้ไม่ค่อยได้ผ